นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

สารจากประธานกรรมการ             

      นับจากที่ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม (“กลุ่มกิจการ”) ได้ก่อตั้งในปี 2544 จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมระยะเวลาที่ดำเนินงานมากว่า 19 ปีนั้น ได้มีการพัฒนาองค์กรและบุคลากรในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการลูกค้า สภาวะตลาด และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรของกลุ่มกิจการให้มีความแข็งแกร่งและมีประสบการณ์เชี่ยวชาญในธุรกิจสื่อสาร เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศ

      เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มกิจการ ที่จะก้าวอย่างมั่นคงไปสู่เป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทจึงนำ “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี” มาใช้ เนื่องจากการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นระบบที่จัดโครงสร้าง และความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และผู้ถือหุ้น เพื่อให้กลุ่มกิจการมีความสามารถในการแข่งขัน อันจะนำไปสู่ความเจริญเติบโต และเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว โดยที่ยังคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในสังคมอีกด้วย

      เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ทุกฝ่ายที่จะสามารถนำไปปฏิบัติ คณะกรรมการบริษัทจึงได้มีการปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับนี้ โดยได้นำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปี 2560 มาเป็นแนวทาง เพื่อให้กลุ่มกิจการมีผลประกอบการที่ดีในระยะยาว และสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืนต่อไป

 

                                                                                                                                                           นายอนันต์  วรธิติพงศ์
                                                                                                                                                             ประธานกรรมการ 

เอกสาร นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี

กลุ่มกิจการ ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) โดยเชื่อมั่นว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดีแสดงถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การเพิ่มมูลค่า และการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มกิจการ ดังนั้นกลุ่มกิจการจึงได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และถือเป็นภารกิจที่กลุ่มกิจการจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมให้กลุ่มกิจการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี และกำหนดให้มีการทบทวนนโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับแนวทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนในอนาคต เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวปฏิบัติซึ่งครอบคลุมหลักการ 7 หมวด ดังต่อไปนี้

กลุ่มกิจการตระหนักและให้ความสำคัญถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น โดยจะไม่กระทำการใดที่เป็นการละเมิดหรือริดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน โดยสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น ได้แก่ การซื้อขายหรือโอนหุ้น การมีส่วนแบ่งในกำไรของกิจการ การได้รับข่าวสารข้อมูลของกิจการอย่างเพียงพอ การเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และเรื่องที่มีผลกระทบต่อกลุ่มกิจการเช่น การจัดสรรเงินปันผล การกำหนดหรือการแก้ไขข้อบังคับและหนังสือบริคณห์สนธิ การลดทุนหรือเพิ่มทุน และการอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น กลุ่มกิจการจึงได้กำหนดนโยบายการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ดังต่อไปนี้ 

1. การสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิ : 
กลุ่มกิจการสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นทุกรายให้ใช้สิทธิได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นทุกรายเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการบริษัทและไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการจำกัดโอกาสการเข้าประชุมของผู้ถือหุ้น 

2. การส่งข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้น :
กลุ่มกิจการจะดำเนินการให้ผู้ถือหุ้น ได้รับทราบ วัน เวลา สถานที่ วาระการประชุม ข้อมูลสำคัญ โดยมีคำชี้แจงและเหตุผลประกอบในแต่ละวาระหรือประกอบมติที่ขอ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นหรือในเอกสารแนบวาระการประชุม ตลอดจนถึงการชี้แจง หลักเกณฑ์และวิธีการที่ใช้ในการประชุมต่างๆ รวมถึง วิธีการออกเสียงในแต่ละวาระการประชุม ล่วงหน้าก่อนเริ่มการประชุม โดยกลุ่มกิจการจะจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับ การประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมดให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถศึกษาข้อมูล ล่วงหน้าก่อนเข้าร่วมประชุม นอกจากนี้ กลุ่มกิจการจะนำข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดประกาศลงในเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลให้แก่ผู้ถือหุ้น

3. ความชัดเจน โปร่งใสในการดำเนินการประชุมและลงมติ :
      3.1 กลุ่มกิจการจะดำเนินการให้กรรมการทุกท่านเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถามในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้
      3.2 ในการเข้าร่วมการประชุมและการออกเสียงในที่ประชุม กลุ่มกิจการสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญและออกเสียงในประเด็นต่างๆ ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ในการออกเสียงเพื่อลงมติทุกครั้งจะมีการ      ใช้บัตรลงคะแนนเสียงในวาระที่สำคัญ เช่น การทำรายการเกี่ยวโยง การทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ในกรณีที่มีข้อโต้แย้งในภายหลัง
      3.3 กลุ่มกิจการจะจัดให้มีการลงมติเป็นแต่ละรายการ ในกรณีที่วาระนั้นมีหลายรายการ เช่น วาระการแต่งตั้งกรรมการ
      3.4 กลุ่มกิจการจะจัดให้มีบุคคลที่เป็นอิสระเป็นผู้ตรวจนับหรือตรวจสอบคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น และเปิดเผยให้ที่ประชุมทราบพร้อมบันทึกไว้ในรายงานการประชุม

4. การให้โอกาสแก่ผู้ถือหุ้นในการซักถามและแสดงความคิดเห็น :
กลุ่มกิจการจะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่งคำถามล่วงหน้าก่อนวันประชุม โดยกำหนดหลักเกณฑ์การส่งคำถามล่วงหน้าให้ชัดเจน และแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบพร้อมกับการส่งหนังสือเชิญประชุม ในการประชุมผู้ถือหุ้น กลุ่มกิจการจะเปิดโอกาสให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคนได้ซักถาม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อเสนอแนะใดๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างอิสระทุกครั้ง โดยประธานกรรมการจะจัดสรรเวลาในการประชุมอย่างเหมาะสมและเพียงพอ รวมทั้งกรรมการและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องจะเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตอบคำถามในที่ประชุมด้วย

5. การจัดทำรายงานการประชุม :
      5.1 กลุ่มกิจการจะจัดให้มีการจดรายงานการประชุมให้ครบถ้วน ถูกต้อง โดยจะบันทึกการชี้แจงขั้นตอนการลงคะแนนและวิธีการแสดงผลคะแนนให้ที่ประชุมทราบก่อนดำเนินการประชุม บันทึกประเด็นซักถามและข้อคิดเห็นที่สำคัญไว้ในรายงานการประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้ และบันทึกผลการลงคะแนนในแต่ละวาระว่ามีผู้ถือหุ้นเห็นด้วย คัดค้าน และงดออก เสียงเป็นอย่างไร รวมถึงบันทึกรายชื่อกรรมการผู้เข้าร่วมประชุมและกรรมการที่ไม่ได้เข้าประชุมด้วย
      5.2 กลุ่มกิจการจะนำส่งรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 14 วันนับแต่วันที่มีการประชุมผู้ถือหุ้น และเผยแพร่รายงานการประชุมดังกล่าวในเว็บไซต์ของบริษัท

กลุ่มกิจการยึดมั่นในการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นที่ไม่เป็นผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย ผู้ถือหุ้นต่างชาติ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นทุกกลุ่มว่า คณะกรรมการและฝ่ายบริหารได้ดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับข้อมูลต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีหลักการดังต่อไปนี้

1. การเข้าร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น :
      1.1 กลุ่มกิจการจะแจ้งกำหนดการประชุม พร้อมระเบียบวาระ และความเห็นของ คณะกรรมการต่อผู้ถือหุ้น ในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นและผ่านช่องทางอื่นที่เหมาะสม ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
      1.2 กลุ่มกิจการจะแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการประชุม ขั้นตอนการออก เสียงลงมติ รวมทั้งสิทธิการออกเสียงลงคะแนนตามแต่ละประเภทของหุ้นในหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น
      1.3 กลุ่มกิจการจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือหุ้นผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นได้ ด้วยการใช้หนังสือมอบฉันทะ และสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ มอบฉันทะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือให้กรรมการอิสระของบริษัท ท่านหนึ่งเป็นผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนได้ 

2. การดูแลผู้ถือหุ้นส่วนน้อย :
      2.1 กำหนดให้กรรมการอิสระเป็นผู้ดูแลผู้ถือหุ้นส่วนน้อย โดยผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ หรือแจ้งข้อร้องเรียนไปยังกรรมการอิสระได้ โดยกรรมการอิสระจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมในแต่ละเรื่อง หากเป็นข้อร้องเรียน กรรมการอิสระจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสม หากเป็นข้อเสนอแนะ กรรมการอิสระจะทำการพิจารณาข้อเสนอแนะและแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากกรรมการอิสระพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยรวม หรือมีผลต่อการประกอบธุรกิจของกลุ่มกิจการ กรรมการอิสระจะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณากำหนดเป็นวาระการประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป
      2.2 กลุ่มกิจการจะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิในการแต่งตั้งกรรมการเป็นรายคน
      2.3 กลุ่มกิจการจะดำเนินการมิให้ผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารเพิ่มวาระการประชุมที่มิได้แจ้งเป็นการล่วงหน้าโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะวาระที่ผู้ถือหุ้นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
      2.4 กลุ่มกิจการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ผู้ถือหุ้นเสนอระเบียบวาระการประชุม หรือเสนอชื่อกรรมการพร้อมเอกสารระบุคุณสมบัติ เพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นการล่วงหน้า โดยผู้ถือหุ้นที่จะเสนอระเบียบวาระหรือเสนอชื่อกรรมการพึงมีคุณสมบัติ ดังนี้
            2.4.1 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยอาจเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว หรือหลายรายรวมกันก็ได้
            2.4.2 ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 5% ของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมด
            2.4.3 ถือหุ้นบริษัทอย่างต่อเนื่อง นับจากวันที่ถือหุ้นจนถึงวันที่เสนอระเบียบวาระการประชุมหรือเสนอชื่อกรรมการ ไม่น้อยกว่า 12 เดือน

3. การป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน :
      3.1 กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มกิจการ ต้องมีความรับผิดชอบในการรักษาข้อมูลขององค์กรไว้เป็นความลับโดยเคร่งครัด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลภายในที่ไม่สมควรเปิดเผยต่อสาธารณะ) โดยกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของกลุ่มกิจการตลอดจนคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล จะไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนหรือเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
      3.2 กรรมการและผู้บริหารของกลุ่มกิจการจะปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท และการใช้ข้อมูลภายในอย่างเคร่งครัด โดยรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทรับทราบ เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของกลุ่มกิจการอย่างน้อย 1 วันล่วงหน้าก่อนทำการซื้อขาย กรณีฝ่าฝืนนโยบายการใช้ข้อมูล กำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจสอบในทันทีที่ตรวจพบ เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
      3.3 กรรมการและผู้บริหารของกลุ่มกิจการมีหน้าที่ต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ตามกฎหมายโดยจัดส่วนรายงานให้แก่คณะกรรมการเป็นประจำ และเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปี

4. การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ :
      4.1 กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่เปิดเผยการเปลี่ยนแปลงในการมีส่วนได้เสียในกิจการต่างๆ ตามแนวทางการรายงานการมีส่วนได้เสียของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำส่งรายงานต่อเลขานุการบริษัทในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล
      4.2 กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของกลุ่มกิจการ ต้องเปิดเผยให้กลุ่มกิจการ ทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีส่วนได้เสียใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างน้อยก่อนการพิจารณาวาระนั้น และกำหนดให้ต้องบันทึกไว้ในรายงานการประชุมคณะกรรมการ ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือแนวทางของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดจนนโยบายของกลุ่มกิจการ
      4.3 กำหนดให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียในการพิจารณาวาระใดๆ อย่างมีนัยสำคัญในลักษณะที่อาจทำให้กรรมการรายดังกล่าวไม่สามารถให้ความเห็นได้อย่างอิสระ ควรงดเว้นจากการมีส่วนร่วมในการประชุมพิจารณาวาระนั้น และต้องงดเว้นการออกเสียงลงมติในการประชุมพิจารณาวาระดังกล่าว

      นอกจากที่กำหนดในข้อ 1-4 กลุ่มกิจการจะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฏระเบียบ ข้อบังคับข้อกำหนดใดๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในกรณีที่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ข้อกำหนด กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ วิธีปฎิบัติ ในประกาศ คำสั่ง หรือโดยวิธีการอื่นใดของหน่วยงานที่กำกับดูแลตามกฎหมาย กลุ่มกิจการจะปฎิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายที่จะมีการแก้ไขในอนาค

1. นโยบายการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย

กลุ่มกิจการยึดถือหลักการทั่วไปในการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันต่อผู้มีส่วนได้เสีย อันได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน คู่ค้า หุ้นส่วนธุรกิจ เจ้าหนี้ และคู่แข่ง รวมถึงสาธารณชนและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใส กลุ่มกิจการจึงกำหนดนโยบายให้มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มโดยคำนึงถึงสิทธิผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวทั้งตามกฎหมายหรือตามข้อตกลงที่มีกับกลุ่มกิจการ ดังต่อไปนี้ 

ผู้ถือหุ้น : กลุ่มกิจการจะดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการเจริญเติบโตของกลุ่มกิจการอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น และดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสโดยจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพและไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสม่ำเสมอ

ลูกค้า : กลุ่มกิจการพยายามที่จะรักษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในระยะยาวกับลูกค้าของกลุ่มกิจการ โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจสูงสุด โดยการผลิตสินค้าและให้บริการที่มีคุณภาพดี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดในราคาที่ยุติธรรม รวมทั้งมีการให้บริการหลังการขายตามมาตรฐานขั้นสูง ตลอดจนให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินกิจการและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มกิจการแก่ลูกค้าอีกด้วย กลุ่มกิจการยังมีการรักษาช่องทางการติดต่อกับลูกค้า โดยเปิดรับฟังความเห็นของลูกค้าตลอดเวลาและรักษาความลับของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

พนักงาน : พนักงานของกลุ่มกิจการทุกคนถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์กร และมีความสำคัญต่อการเติบโต และความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มกิจการ กลุ่มกิจการจึงพยายามจัดหาสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่มีคุณภาพให้แก่พนักงาน โดยให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยสูงสุด และกลุ่มกิจการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเป็นธรรมให้ได้รับผลตอบแทนอย่างยุติธรรมและเป็นธรรมเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ กลุ่มกิจการยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ และศักยภาพของพนักงาน และพยายามสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความหลากหลาย และสร้างแรงจูงใจให้พนักงานที่มีความรู้ความสามารถสูงให้คงอยู่เพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป

โดยกลุ่มกิจการมีนโยบายการพัฒนาบุคลากร ด้านต่างๆ ดังนี้

  • การพัฒนาองค์ความรู้ (Knowledge)  และ การพัฒนาทักษะ (Skill) กิจกรรมที่ให้ความรู้ประสบการณ์และปรับปรุงทัศนคติในงาน
    – การฝึกอบรม (Training) 
    – การสอนงาน (Job Instruction & Coaching)
  • การพัฒนาความสามารถ (Ability) เช่น การนำสร้างวิสัยทัศน์ใหม่และพร้อมทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่
  • การพัฒนาทัศนคติ (Attitude) คือ การทำให้บุคลากรเปลี่ยนวิธีคิด และการทำให้บุคลากรรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสำคัญต่อองค์กร การพัฒนาลักษณะนิสัย (Traits) คือ ทำให้บุคลากรมีความรักความผูกพันกับองค์กร และการพัฒนาการจูงใจ (Motivation) คือ การสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากรทั้งในรูปของเงินเดือน ค่าจ้างสวัสดิการ และตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ฯลฯ โดยมีการประเมินวัดผลอย่างเป็นระบบโดยใช้ KPI’s เข้ามาเป็นตัวประเมินผลงานและเทียบกับปีที่ผ่านมา มาพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนและโบนัสประจำปี พร้อมทั้งพิจารณาจากผลการดำเนินงานของกลุ่มกิจการ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจปกติของกลุ่มกิจการต่อไป

คู่ค้า, หุ้นส่วนธุรกิจ : กลุ่มกิจการถือว่าการทำให้คู่ค้า หุ้นส่วนธุรกิจ เข้าใจถึงกิจการของกลุ่มกิจการ อย่างถ่องแท้เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ยั่งยืน และอยู่บนพื้นฐานของความไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มกิจการ กับคู่ค้า หุ้นส่วนธุรกิจของกลุ่มกิจการ โดยกลุ่มกิจการจะปฏิบัติต่อคู่ค้าและหุ้นส่วนธุรกิจอย่างเป็นธรรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญาอย่างเคร่งครัด

เกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้า : กลุ่มกิจการให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคัดเลือกคู่ค้าหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจที่เหมาะสม โดยจะต้องมั่นใจว่ากระบวนการคัดเลือกและการปฎิบัติต่อคู่ค้าหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม โดยกลุ่มกิจการดูแลคู่ค้าเสมือนเป็นหุ้นส่วนในการทำธุรกิจระหว่างกัน สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกมี ดังนี้

  1. มีประวัติทางการเงินที่น่าเชื่อถือ และมีศักยภาพที่จะเติบโตไปพร้อมกับบริษัทได้ในระยะยาว
  2. ผลิตหรือจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการ และความสามารถตรวจสอบคุณภาพได้
  3. ให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมการขาย และการให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้า โดยกลุ่มกิจการมีนโยบายที่ปฎิบัติตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่จำหน่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายทางการค้า

 เจ้าหนี้รวมถึงเจ้าหนี้ค้ำประกัน : กลุ่มกิจการมีนโยบายการให้ข้อมูลทางการเงินที่ครบถ้วนและถูกต้องแก่เจ้าหนี้ของกลุ่มกิจการ รวมถึงปฎิบัติตามสัญญาและข้อผูกพันต่างๆ ที่มีต่อเจ้าหนี้และเจ้าหนี้ค้ำประกันของกลุ่มกิจการอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์การใช้เงิน การชำระคืน และเรื่องอื่นใดที่ได้ให้ข้อตกลงไว้กับเจ้าหนี้และเจ้าหนี้ค้ำประกันของกลุ่มกิจการ ในกรณีที่ไม่สามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งได้ กลุ่มกิจการจะรีบแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบโดยเร็วเพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขโดยใช้หลักความสมเหตุสมผล โดยกลุ่มกิจการมุ่งมั่นในการรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับเจ้าหนี้ และให้ความเชื่อถือซึ่งกันและกัน 

กลุ่มกิจการได้กำหนดกลยุทธ์ในการบริหารเงินทุนเพื่อความมั่นคงและแข็งแกร่ง เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มกิจการอยู่ในฐานะที่ยากลำบากในการชำระคืนแก่เจ้าหนี้ อีกทั้งมีการบริหารสภาพคล่องเพื่อเตรียมความพร้อมในการชำระคืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของกลุ่มกิจการอย่างทันท่วงที และตรงตามระยะเวลาครบกำหนด

คู่แข่ง : กลุ่มกิจการจะปฏิบัติต่อคู่แข่งของกลุ่มกิจการตามกรอบของการแข่งขันอย่างยุติธรรมและมีจริยธรรม และประกอบธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาและความก้าวหน้าของตลาด ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมในภาพรวม 

สาธารณชน : กลุ่มกิจการใส่ใจและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ ดำเนินงานทั้งหมดของกลุ่มกิจการรวมทั้งจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ นอกจากนี้ กลุ่มกิจการพยายามมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการสร้างและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนส่งเสริม วัฒนธรรมของประเทศที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ กลุ่มกิจการมีมาตรการการจัดขยะและของเสียจากการผลิตของกลุ่มกิจการ ให้มีผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประชาชนอย่างน้อยที่สุด

หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการดำเนินงานของกลุ่มกิจการ : กลุ่มกิจการจะปฏิบัติและควบคุมให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและ กฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการดำเนินงานของกลุ่มกิจการ
ทั้งนี้ กลุ่มกิจการจะจัดให้มีกระบวนการและช่องทางในการรับและจัดการกับข้อร้องเรียนของผู้มีส่วนได้เสียผ่าน E-mail ของกลุ่มกิจการโดยมีผู้ที่คณะกรรมการมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบกลั่นกรองข้อร้องเรียนส่งให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานให้คณะกรรมการรับทราบ

2. การเปิดเผยการปฏิบัติตามนโยบาย และการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม

กลุ่มกิจการจะเปิดเผยกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการตามนโยบายการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวข้างต้น และรวมถึงการมีส่วนร่วมของพนักงานในการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวข้างต้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย ผ่านช่องทางที่เหมาะสม

กลุ่มกิจการให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงข้อมูลที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของกลุ่มกิจการและมีผลกระทบต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียของกลุ่มกิจการเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกิจการทั้งหมดได้รับทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน โดยภายหลังจากกลุ่มกิจการได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว กลุ่มกิจการจะทำการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศของกลุ่มกิจการต่อผู้ถือหุ้นและสาธารณชนผ่านช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งเว็บไซต์ของบริษัท

นโยบายในการเปิดเผยข้อมูล มีดังนี้

  1. หลักการเปิดเผยข้อมูล : กลุ่มกิจการจะเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกลุ่มกิจการอย่างถูกต้อง ไม่ทำให้สำคัญผิด เพียงพอต่อการตัดสินใจของนักลงทุนด้วยความโปร่งใส และไม่ชักช้า โดยกลุ่มกิจการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อรายงานงบการเงินที่มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นจริง และสมเหตุสมผล สำหรับงบการเงินของกลุ่มกิจการนั้น จะถูกจัดขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยมีการเลือกใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงิน นอกจากนี้ กลุ่มกิจการได้จัดให้มีระบบการควบคุมภายใน เพื่อให้มั่นใจว่าการบันทึกข้อมูลทางบัญชีมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สิน และเพื่อให้ทราบจุดอ่อนเพื่อป้องกันการทุจริตหรือการดำเนินงานที่ผิดปกติอย่างมีสาระสำคัญ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อตรวจสอบรายงานทางการเงิน รายการระหว่างกัน และระบบควบคุมภายใน ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบจะรายงานผลต่อคณะกรรมการบริษัทในการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง 
  2. ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้น/นักลงทุน : กลุ่มกิจการจัดให้มีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของกลุ่มกิจการ เพื่อทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้น รวมถึงนักลงทุน สถาบันและผู้ถือหุ้นรายย่อย และกลุ่มกิจการจะจัดให้มีการประชุมเพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเป็นประจำ
  3. ข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการ : กลุ่มกิจการจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรรมการแต่ละท่าน จำนวนครั้งเข้าประชุม  ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อยของบริษัท ในรายงานประจำปีของบริษัท
  4. การรายงานทางการเงิน : กลุ่มกิจการให้ความสำคัญต่อรายงานทางการเงิน เพื่อให้แสดงถึงสถานะทางการเงินและผลการประกอบการที่แท้จริงของกลุ่มกิจการ โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอตามมาตรฐานการบัญชีซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งกลุ่มกิจการจะดูแลให้มีการเปิดเผยค่าสอบบัญชี และค่าบริการอื่นที่ผู้สอบบัญชีให้บริการไว้ด้วย
  5. ค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารระดับสูง : กลุ่มกิจการจะเปิดเผยค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในรายงานประจำปีของบริษัท และเปิดเผยนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการและผู้บริหารระดับสูงที่สะท้อนถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละคน รวมทั้งรูปแบบหรือลักษณะของค่าตอบแทนด้วย

คณะกรรมการบริษัท ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตาม นโยบายการกำกับดูแลกิจการ คณะกรรมการบริษัท จะจัดให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรม (Code of Conduct) กฎบัตรคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการชุดย่อยตามความจำเป็นและเหมาะสม (เช่น คณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน เป็นต้น) พร้อมด้วยกฎบัตรในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดย่อยที่ชัดเจน คณะอนุกรรมการ ตามความจำเป็นและเหมาะสม (เช่น คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง) พร้อมด้วยกฎบัตรในการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการที่ชัดเจน และ เอกสารอื่นๆ ที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานและหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการ (เช่น คู่มือการปฏิบัติงานของกรรมการ เป็นต้น นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท จะทำการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการด้วย ตนเองทุกปี

1. โครงสร้าง และคุณสมบัติคณะกรรมการ

      1.1 โครงสร้างของคณะกรรมการจะประกอบด้วยกรรมการที่มีคุณสมบัติหลากหลาย ทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มกิจการ  และจะเปิดเผยจำนวนปีการดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัท ของกรรมการแต่ละคนผ่านช่องทางที่เหมาะสม
      1.2 คณะกรรมการจะมีจำนวนกรรมการที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน
      1.3 คณะกรรมการจะมีกรรมการอิสระที่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายจัดการได้อย่างอิสระในจำนวนที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
      1.4 วาระการดำรงตำแหน่งหรือการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ นอกจากจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังจะต้องเป็นไปข้อบังคับของบริษัท ที่กำหนดให้ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีทุกครั้ง กรรมการต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระจำนวนหนึ่งในสาม โดยให้กรรมการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง ถ้าจำนวนกรรมการที่จะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระด้วยเหตุนี้ อาจได้รับเลือกตั้งใหม่อีกได้โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น
      1.5 คณะกรรมการจะกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็น “กรรมการอิสระ” ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ  นอกจากนี้ จะให้กรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องไม่เกิน 9 ปี นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระครั้งแรก เว้นแต่มีความจำเป็นที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระนั้นต่อไปอีก
      1.6 ประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการจะต้องไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน
      1.7 คณะกรรมการจะเลือกให้กรรมการอิสระดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
      1.8 เพื่อให้มั่นใจว่ากรรมการจะสามารถทุ่มเทเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ในบริษัท ได้อย่างเพียงพอ คณะกรรมการจะกำหนดจำนวนบริษัทที่กรรมการแต่ละคนจะไปดำรงตำแหน่งไม่ควรเกิน 5 บริษัทที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
      1.9 บริษัทจะมีเลขานุการบริษัททำหน้าที่ตามที่กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนด

2. คณะกรรมการชุดย่อย

      2.1 คณะกรรมการบริษัท อาจแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการ ปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท โดยคณะกรรมการชุดย่อยดังกล่าวจะมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาทบทวนเรื่องต่างๆ ที่มีความสำคัญเป็นการเฉพาะ โดยคณะกรรมการบริษัท จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการ ชุดย่อย การออกกฎบัตรคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อกำหนดระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้ององค์ประกอบของคณะกรรมการชุดย่อย หน้าที่ และความรับผิดชอบ ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดย่อยดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการบริษัท พิจารณาเห็นสมควร โดยในแต่ละปี คณะกรรมการบริษัท จะพิจารณาทบทวนกฎบัตรของคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละคณะ
      2.2 ปัจจุบันคณะกรรมการชุดย่อยของบริษัท มีจำนวน 4 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ, คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน, คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการบริหาร
      2.3 ประธานคณะกรรมการจะไม่เป็นประธานหรือสมาชิกในคณะกรรมการชุดย่อยใดๆ และไม่เป็นคนเดียวกันกับกรรมการผู้อำนวยการหรือผู้บริหารสูงสุดของบริษัท
      2.4 คณะกรรมการบริษัทยังมีนโยบายส่งเสริมให้กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ ประชุมระหว่างกันเองได้ตามความจำเป็น เพื่ออภิปรายปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการที่อยู่ในความสนใจโดยไม่มีฝ่ายบริหารเข้าร่วมด้วย

3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

      3.1 คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการจัดการบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการกำหนดให้เป็นไปตามกฎบัตรของคณะกรรมการบริษัท
      3.2 คณะกรรมการจะทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการและการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
      3.3 คณะกรรมการกำหนดให้กลุ่มกิจการ จัดทำจรรยาบรรณธุรกิจที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และ พนักงาน ทุกคนเข้าใจถึงมาตรฐานด้านจริยธรรมที่กลุ่มกิจการใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยคณะกรรมการจะติดตามให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าวและการปรับปรุงที่ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ทั้งภายในและภายนอกบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลง
      3.4 คณะกรรมการจะพิจารณาเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์อย่างรอบคอบ การพิจารณาการทำรายการที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์จะมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มกิจการและผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ โดยที่ผู้มีส่วนได้เสียจะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และคณะกรรมการจะกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการและการเปิดเผยข้อมูลของรายการที่อาจมีความขัดแย้งของผลประโยชน์ให้ถูกต้องครบถ้วน
      3.5 คณะกรรมการจะจัดให้มีระบบการควบคุมด้านการดำเนินงาน ด้านรายงานทางการเงิน และด้านการปฏิบัติ ตามกฎระเบียบ และนโยบาย รวมทั้งจะจัดให้มีบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบระบบการควบคุมดังกล่าว และจะทบทวนระบบที่สำคัญ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตลอดจนพิจารณาทบทวนวิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ของบริษัท (Strategic direction) เป็นประจำทุกปี
      3.6 คณะกรรมการจะให้ฝ่ายจัดการรายงานให้คณะกรรมการทราบเป็นระยะ ๆ ในการดำเนินการด้านการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้จะมีการทบทวนระบบหรือประเมินประสิทธิผลของการจัดการความเสี่ยงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
      3.7 คณะกรรมการหรือคณะกรรมการตรวจสอบจะให้ความเห็นถึงความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงไว้ในรายงานประจำปีหรือผ่านช่องทางที่เหมาะสม
      3.8 คณะกรรมการจะจัดให้มีการประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

4. การจัดประชุมคณะกรรมการ

      4.1 การกำหนดตารางการประชุมล่วงหน้า :
            – กลุ่มกิจการกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง เพื่อพิจารณางบการเงิน การวางนโยบายและติดตามผลการดำเนินงาน และคณะกรรมการบริษัทต้องพร้อมเข้าร่วมประชุมเสมอ หากมีการประชุมวาระพิเศษ 
            – คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดตารางการประชุมล่วงหน้าในแต่ละปีและแจ้งให้กรรมการบริษัทแต่ละท่านทราบ ทั้งนี้ไม่รวมการประชุมวาระพิเศษ
      4.2 การส่งหนังสือเชิญประชุม : เลขานุการคณะกรรมการบริษัท จัดทำหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ  โดยการประชุมแต่ละครั้งมีการกำหนดวัน  เวลา  สถานที่และวาระการประชุมอย่างชัดเจนและจัดส่งเอกสารประกอบการประชุมให้คณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประชุมเป็นการล่วงหน้าด้วยระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน  เพื่อให้มีเวลาในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ หรือเรียกขอข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม  โดยในหนังสือเชิญประชุมควรแจ้งวาระที่ต้องได้รับการอนุมัติไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีเอกสารประกอบการพิจารณาที่ครบถ้วนและชัดเจน
      4.3 จำนวนครั้งการประชุม : คณะกรรมการบริษัท  มีการประชุมอย่างน้อย 3 เดือนต่อครั้ง  แล้วแต่สถานการณ์และความจำเป็น ทั้งนี้ในกรณีที่มีกรรมการอย่างน้อย 2 คนสามารถร้องขอให้จัดประชุม กลุ่มกิจการจะต้องจัดประชุมคณะกรรมการภายใน 14 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ
      4.4 ผู้เข้าร่วมประชุม :โดยจำนวนองค์ประชุมขั้นต่ำ ณ ขณะที่กรรมการจะลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการว่า ต้องมีกรรมการอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด โดยคณะกรรมการสามารถเชิญคณะอนุกรรมการ ผู้บริหาร ผู้ตรวจสอบภายนอกและผู้ตรวจสอบภายในของกลุ่มกิจการ  เพื่อเข้าร่วมประชุมตามความจำเป็นและเหมาะสม
      4.5 การลงคะแนนเสียง : ใช้ระบบคะแนนเสียงส่วนใหญ่เป็นมติที่ประชุม โดยในกรณีที่เสียงข้างมากแล้วยังไม่สามารถชี้ขาดได้ ให้ประธานกรรมการสามารถออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียง เพื่อเป็นคะแนนตัดสินได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรรมการคนใดคนหนึ่ง กรรมการผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าวต้องงดออกเสียงในเรื่องนั้น ๆ
      4.6 รายงานการประชุม : เลขานุการคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้จดบันทึกรายงานการประชุม เนื่องจากกรรมการที่ได้เข้าร่วมประชุมต้องมีความรับผิดชอบตามที่ได้ตัดสินใจไว้ และหากกรรมการท่านใดมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากกรรมการท่านอื่นหรืองดออกเสียงก็ต้องบันทึกความเห็นดังกล่าวไว้ด้วย เพื่อแสดงถึงขอบเขตความรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้บริษัทต้องจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 14 วันนับแต่วันประชุมและจัดเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่ ในกรณีที่กรรมการมีการร้องขอ บริษัทต้องสามารถจัดส่งรายงานการประชุมให้ได้อย่างรวดเร็ว

5. การประเมินตนเองของคณะกรรมการ

      5.1 คณะกรรมการ และคณะกรรมการชุดย่อย จะประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นรายคณะและรายบุคคลด้วยตนเองอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้คณะกรรมการร่วมกันพิจารณาผลงานและปัญหา เพื่อการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

6. ค่าตอบแทนกรรมการ

คณะกรรมการบริษัท ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาหลักเกณฑ์และรูปแบบการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการที่จำเป็นและเหมาะสมทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงินของคณะกรรมการบริษัทเป็นรายบุคคลในแต่ละปี โดยพิจารณาดังนี้

      6.1 ค่าตอบแทนของกรรมการจะจัดให้อยู่ในลักษณะที่เปรียบเทียบได้กับระดับที่ปฏิบัติอยู่ในอุตสาหกรรม ประสบการณ์ ภาระหน้าที่ ขอบเขตของบทบาทและความรับผิดชอบ (Accountability and Responsibility) รวมถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกรรมการแต่ละคน
      6.2 กำหนดค่าตอบแทนที่จำเป็นและเหมาะสมทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงินของคณะกรรมการบริษัทเป็นรายบุคคลในแต่ละปี โดยพิจารณาความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ผลงาน และเปรียบเทียบกับบริษัทในธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกรรมการ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาและนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติ

7. ค่าตอบแทนกรรมการผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะเป็นผู้พิจารณาทบทวนค่าตอบแทนของกรรมการผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า เพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ โดยพิจารณาดังนี้

      7.1 ค่าตอบแทนของกรรมการผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า จะเป็นไปตามหลักการและนโยบายที่ คณะกรรมการกำหนดภายในกรอบที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุม และเพื่อประโยชน์สูงสุดของกลุ่มกิจการ
      7.2 กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารทั้งหมดจะเป็นผู้ประเมินผลกรรมการผู้อำนวยการเป็นประจำทุกปี เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนของกรรมการผู้อำนวยการ โดยใช้บรรทัดฐานที่ได้ตกลงกันล่วงหน้ากับกรรมการผู้อำนวยการตามเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม
      7.3 มีการกำหนดอย่างเหมาะสมตามโครงสร้างค่าตอบแทนของบริษัท โดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานและสอดคล้องกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย

8. ค่าตอบแทนผู้บริหาร

คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนจะเป็นผู้พิจารณาทบทวนค่าตอบแทนของรองกรรมการผู้อำนวยการตามสายงาน  และผู้บริหารระดับสูง ตามหลักเกณฑ์การจ่ายได้พิจารณาไว้ และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติ โดยพิจารณาดังนี้

      8.1 พิจารณากำหนดค่าตอบแทน ค่าคอมมิชชั่น โบนัส เงินรางวัล และสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้บริหาร เป็นไปตามหลักการที่กลุ่มกิจการกำหนดไว้ โดยได้พิจารณาจากการขยายตัวของธุรกิจ การเติบโตและผลการดำเนินการของกลุ่มกิจการ รวมทั้งสภาพคล่องของกลุ่มกิจการหรือภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
      8.2 พิจารณาจากผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร และอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ
      8.3 กรรมการผู้อำนวยการจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดค่าตอบแทนและการปรับค่าจ้างประจำปีของผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการ โดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานและผลการดำเนินงานของกลุ่มกิจการ ตามหลักเกณฑ์การจ่ายได้พิจารณาไว้
กลุ่มกิจการได้จัดให้มีค่าตอบแทนอื่นของกรรมการผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า และผู้บริหาร ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตกลุ่ม เป็นต้น

9. การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร

      9.1 คณะกรรมการจะส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัท เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยการฝึกอบรมและให้ความรู้อาจกระทำเป็นการภายในกลุ่มกิจการหรือใช้บริการของสถาบันภายนอก
      9.2 ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่ ฝ่ายจัดการจะจัดให้มีเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการใหม่ รวมถึงการจัดแนะนำลักษณะธุรกิจ และแนวทางการดำเนินธุรกิจของกลุ่มกิจการให้แก่กรรมการใหม่
      9.3 คณะกรรมการจะกำหนดให้กรรมการผู้อำนวยการรายงานเพื่อทราบอย่างน้อยปีละครั้งถึงแผนการพัฒนาและสืบทอดงานในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ และผู้บริหารระดับสูง เพื่อรองรับกับการขยายงานของกลุ่มกิจการหรือเหตุการณ์ที่ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

10. หน้าที่ และความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารจัดการ

กลุ่มกิจการได้แบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการและฝ่ายบริหารออกจากกันอย่างชัดเจนดังนี้

      10.1 การกำกับดูแลการดำเนินงานของกลุ่มกิจการโดยรวมเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจของกลุ่มกิจการและตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
      10.2 ดำเนินการตามกลยุทธ์ และแผนการทางธุรกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตาม กลยุทธ์และแผนการทางธุรกิจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท
      10.3 ดำเนินการและปฏิบัติภารกิจที่คณะกรรมการมอบหมาย และตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท
      10.4 ออกระเบียบ ประกาศ บันทึก เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามนโยบาย
      10.5 ประสานงานภายในองค์กร ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อปฏิบัติตามนโยบายและทิศทางทางธุรกิจที่ได้รับจากคณะกรรมการบริษัท
      10.6 ดำเนินการหาโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของกลุ่มกิจการ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มกิจการ
      10.7 พิจารณาอนุมัติการจ่ายค่าใช้จ่ายการดำเนินงานปกติในวงเงินตามที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติมอบหมายไว้
      10.8 ดูแลการทำงานของพนักงานให้เป็นไปตามนโยบาย กฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติงานด้วยหลัก  ธรรมาภิบาล ในการทำธุรกิจ
      10.9 ส่งเสริมพัฒนาความรู้ความสามารถ และศักยภาพของพนักงานเพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร
      10.10 จัดทำงบประมาณประจำปีในการดำเนินงานขององค์กร โดยเป็นไปตามนโยบายบริษัทที่กำหนดไว้
      10.11 ฝ่ายบริหารจัดการดำเนินการอนุมัติการแต่งตั้ง โยกย้าย และเลิกจ้างพนักงานให้เป็นไปตามสมควรและเหมาะสม
      10.12 ดำเนินกิจการงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง เป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ไม่มีอำนาจในการอนุมัติเรื่องหรือรายการที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขปกติทางการค้า รายการได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์สำคัญของกลุ่มกิจการ และ/หรือ รายการบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งมีส่วนได้เสีย หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดที่จะทำขึ้นกับกลุ่มกิจการ ยกเว้นเป็นรายการที่เป็นเงื่อนไขปกติทางการค้าที่ได้มีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ โดยได้อนุมัติรายการที่เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาอนุมัติไว้และได้ขอความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น ในการทำรายการเกี่ยวโยงกันและการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ที่สำคัญของกลุ่มกิจการ แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเรื่องดังกล่าว

กลุ่มกิจการมีนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ ตลอดจนมีหลักธรรมาภิบาลเป็นเครื่องกำกับให้กลุ่มกิจการดำเนินกิจการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสยุติธรรม และตระหนักถึงผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน พนักงาน ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่ เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งนี้กลุ่มกิจการมีความมุ่งมั่นที่จะดำรงตนให้เป็นกลุ่มกิจการที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสังคม และบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

กลุ่มกิจการมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส สุจริต เป็นไปตามกฎหมาย และแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยตระหนักว่าการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยจรรโลงชื่อเสียงและเกื้อหนุนกิจการของกลุ่มกิจการ จึงได้กำหนดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นเพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับต้องถือปฏิบัติ 

      กลุ่มกิจการสนับสนุนให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลการปฎิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณทางธุรกิจ รวมทั้งรายงานและข้อร้องเรียนการกระทำผิดกฎหมาย หรือ จรรยาบรรณ หรือ พฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ กลุ่มกิจการจึงกำหนดเป็นมาตรการในการแจ้งเบาะแส รวมทั้งจัดให้มีกลไกในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ผู้ถูกร้องเรียน และให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลการแจ้งเบาะแสเป็นความลับ ซึ่งจะรับรู้เฉพาะในกลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมายและเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้นเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้แจ้งเบาะแส โดยเรื่องที่สามารถแจ้งเบาะแส มีดังต่อไปนี้

  • การปฎิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ
  • การคอร์รัปชั่นและการทุจริต
  • การดำเนินการอันควรสงสัยเกี่ยวกับการฟอกเงิน การบัญชี การเงิน รวมถึงการควบคุมและการตรวจสอบ

ช่องทางและวิธีการแจ้งเบาะแส ผู้แจ้งเบาะแสสามารถแจ้งเบาะแสได้ 2 ช่องทาง ดังนี้

ช่องทางที่  1 ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยส่งถึงผู้รับแจ้งเบาะแส คณะใดคณะหนึ่ง ดังนี้

  • คณะกรรมการตรวจสอบ auditcommittee@alt.co.th
  • คณะกรรมการบริษัท directors@alt.co.th 

ช่องทางที่ 2 ทางไปรษณีย์ โดยระบุหน้าซองถึงผู้รับแจ้งเบาะแส คณะใดคณะหนึ่ง และตามด้วยที่อยู่ ดังนี้

  • บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 52/1 หมู่ที่ 5 ถนน บางกรวย-ไทรน้อย ตำบล บางสีทอง  อำเภอ บางกรวย จังหวัด นนทบุรี 11130 

แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริต

      กลุ่มกิจการให้ความสำคัญ ในการป้องกันไม่ให้เกิด การหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นในเรื่อง ต่างๆ ดังนี้

1. สินบนและสิ่งจูงใจ
ห้ามให้หรือรับสินบนและสิ่งจูงใจในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นให้หรือรับ สินบนและ สิ่งจูงใจแทนตนเอง

2. ของขวัญ และผลประโยชน์ 
ห้ามให้หรือรับของขวัญ รวมถึงผลประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้เกิดการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรืออาจทำให้เกิดการยินยอมผ่อนปรนในข้อตกลงทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม และให้ถือปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในจรรยาบรรณของพนักงาน

3.การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน 
การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม

4. กิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง
กลุ่มกิจการจะไม่นำเงินทุนหรือทรัพยากรของกลุ่มกิจการ ไปใช้สนับสนุนทางการเมืองให้แก่ ผู้ลงสมัครแข่งขันเป็น นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด เพื่อการรณรงค์ทางการเมืองหรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ยกเว้น การให้ความสนับสนุนนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และสนับสนุนประชาธิปไตยโดยรวม โดยต้องได้รับอนุมัติ จากกลุ่มกิจการ ก่อนการดำเนินการ 

5. การบริหารความเสี่ยง 
กลุ่มกิจการจัดให้มีการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถ ป้องกันหรือควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวได้ โดยกำหนดให้มีการระบุการประเมิน การควบคุมและติดตาม การรายงานความเสี่ยงเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบตามนโยบายและกระบวนการบริหาร ความเสี่ยงที่กลุ่มกิจการกำหนด 

  • แนวปฎิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลและควบคุมดูแลเพื่อป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริต

กลุ่มกิจการกำหนดให้มีแนวปฎิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลและควบคุมดูแลเพื่อป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น สรุปได้ดังนี้

      5.1 จัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ ประเมินระบบควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมระบบงานสำคัญต่างๆ เช่น ระบบการขายและการตลาด การจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญา ระบบการจัดทำและควบคุมงบประมาณ ระบบการบันทึกบัญชี การชำระเงิน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขที่เหมาะสม

      5.2 จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือข้อร้องเรียนการฝ่าฝืน การกระทำผิดกฎหมายหรือจริยธรรมธุรกิจของกลุ่มกิจการหรือแนวทางปฎิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นหรือข้อสงสัยในรายงานทางการเงิน หรือระบบการควบคุมภายในโดยมีนโยบายในการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแส และจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้ให้ข้อมูลเป็นความลับ รวมทั้งมีมาตรการในการตรวจสอบและกำหนดบทลงโทษทางวินัยของบริษัท และ/หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีที่สามารถติดต่อผู้ให้เบาะแสหรือ ผู้ร้องเรียนได้ กลุ่มกิจการจะแจ้งผลการดำเนินการให้รับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

  • แนวทางในการติดตามประเมินผลการปฎิบัติตามแนวทางปฎิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น

            5.2.1 กำหนดให้ผู้บริหารและพนักงาน ประเมินผลการปฎิบัติงานตนเองเกี่ยวกับการปฎิบัติตามคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจริยธรรมธุรกิจที่กลุ่มกิจการกำหนดขึ้น ซึ่งรวมถึงนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ จริยธรรมว่าด้วยการสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น แนวทางปฎิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น และจรรยาบรรณ/ข้อพึงปฎิบัติของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ
            5.2.2 จัดให้มีฝ่ายตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่ตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลกิจการ และ ให้ข้อแนะนำอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบประจำปีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ และรายงานผลการตรวจสอบที่มีนัยสำคัญและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
            5.2.3 กำหนดให้ฝ่ายบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน รับผิดชอบในผลการทดสอบและประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การนำมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นไปปฎิบัติอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนติดตาม ทบทวนและปรับปรุงมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ โดยนำผลการประเมินต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทตามลำดับ อย่างทันเวลาและสม่ำเสมอ

6. หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลจากการตรวจสอบหรือข้อร้องเรียน มีหลักฐานที่มีเหตุผลอันควรให้เชื่อว่ามีรายการ หรือการกระทำซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของกลุ่มกิจการรวมถึงการฝ่าฝืน การกระทำผิดกฎหมายหรือจริยธรรมธุรกิจของบริษัทฯ หรือแนวทางปฎิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น หรือข้อสงสัยในรายการทางการเงิน หรือระบบการควบคุมภายใน คณะกรรมการตรวจสอบจะรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควรการควบคุมภายในกลุ่มกิจการ จัดให้มีการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของกลุ่มกิจการ และวัฒนธรรมการควบคุมที่ดี โดยมีการประเมิน ความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ กำหนดให้มีกิจกรรมการควบคุมที่มีประสิทธิผลและแบ่งแยกหน้าที่ เหมาะสม รวมทั้งจัดให้มีระบบสารสนเทศที่เพียงพอน่าเชื่อถือ และติดตามประเมินผลการควบคุมภายในอย่าง สม่ำเสมอ

7. การบริหารทรัพยากรบุคคล การสื่อสาร และการฝึกอบรม กลุ่มกิจการให้ความสำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล และมีการสื่อสาร ให้ความรู้ และ ฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายการป้องกัน  การหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ และแนวทางปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

8. การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ กลุ่มกิจการมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ละเมิดหรือกระทําการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ละเมิดรวมถึงไม่สนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดทางตรงหรือทางอ้อม โดยมีการปฏิบัติดังนี้ 

      8.1 กลุ่มกิจการสนับสนุนและส่งเสริมให้พนักงานใช้ความรู้ความสามารถในการวิจัยและพัฒนา เพื่อประดิษฐ์ คิดค้นเครื่องมือ อุปกรณ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล สามารถใช้งานได้จริง โดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นแต่อย่างใด
      8.2 ปฎิบัติตนให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายทางการค้า กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตร กฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 
      8.3 กลุ่มกิจการมีการตรวจสอบการใช้ระบบโปรแกรมซอฟแวร์ และฮาร์ดแวร์ที่ใช้ในเครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับการทำงาน เพื่อป้องกันการใช้โปรแกรมซอฟแวร์ และ/หรือฮาร์ดแวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
      8.4 เมื่อพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ รวมถึงผลงานต่างๆ คืนให้บริษัท ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เก็บไว้ในรูปแบบใดๆ ก็ตาม

 

                                                                                                       ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

 

                                                                                                                                 นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์
                                                                                                                                    กรรมการผู้อำนวยการ
                                                                                                                          บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน)